แรดชวา



ชื่อภาษาไทย: แรดชวา,ระมาด,แรดซุนดา

ชื่อสามัญ : Javan Rhinoceros

ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhinoceros sondaicus



แรดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในอันดับสัตว์กีบคี่ในวงศ์แรด อยู่ในสกุลเดียวกันกับแรดอินเดีย เป็นหนึ่งในห้าชนิดของแรดที่ยังเหลืออยู่ ลำตัวยาว 3.1–3.2  ม.สูง 1.4–1.7 ม.มีขนาดใกล้เคียงกับแรดดำ เหนือจมูกมีนอสั้นๆ หนึ่งนอมีขนาดเล็กกว่าแรดทุกชนิด จึงได้อีกชื่อว่า แรดนอเดียว

วิวัฒนาการ
บรรพบุรุษของแรดได้วิวัฒนาการแยกตัวออกจากสัตว์กีบคี่อื่นในสมัยตอนต้นยุคแรกเริ่มที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถือกำเนิดขึ้นมา (Eocene) การเปรียบเทียบทางไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอ (Mitochondrial DNA) แสดงว่าบรรพบุรุษของแรดในปัจจุบันแยกตัวจากบรรพบุรุษของม้าราวๆ 50 ล้านปีมาแล้ว ในวงศ์แรดที่เหลืออยู่ในปัจจุบันปรากฏขึ้นครั้งแรกในตอนปลายยุคอีโอซีนในทวีปยูเรเชีย และบรรพบุรุษของแรดในปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์จากเอเชีย เริ่มต้นในยุคไมโอซีน (Miocene) แรดอินเดียและแรดชวาซึ่งเป็นสมาชิกในสกุล Rhinoceros ปรากฏตัวครั้งแรกบันทึกซากดึกดำบรรพ์ในเอเชียประมาณ 1.6–3.3 ล้านปีมาแล้ว จากการประเมินเชิงโมเลกุลแสดงว่าสปีชีส์แยกตัวออกมาก่อนหน้านั้นนานมาแล้ว ประมาณ 11.7 ล้านปีมาแล้ว แม้ว่าแรดชวาและแรดอินเดียจะเป็นกลุ่มเดียวกับสกุลต้นแบบแต่ก็เชื่อกันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแรดชนิดอื่นๆ

ลักษณะ
แรดชวามีขนาดเล็กกว่าแรดอินเดียซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับมัน มันมีขนาดใกล้เคียงกับแรดดำ ลำตัวยาว (รวมหัว) 3.1–3.2 ม. สูง 1.4–1.7 ม. เมื่อโตเต็มที่หนัก 900-2,300 กก. เนื่องจากแรดชวาอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์จนถึงขั้นวิกฤติการวัดที่แม่นยำจึงไม่เคยกระทำและไม่มีความสำคัญ ไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศเด่นชัด แต่เพศเมียอาจใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย แรดชวาไม่มีขน มีหนังสีเทาหรือน้ำตาลเทา มีรอยพับที่ไหล่ หลังขาหน้า และสะโพก ทำให้ดูคล้ายกับว่ามันสวมเสื้อเกราะอยู่ รอยพับที่คอของแรดชวาเล็กกว่าของแรดอินเดีย แต่จะมีรูปร่างคล้ายอานม้าปกคลุมไปที่ไหล่ ง่ามก้นไม่เป็นร่อง

พฤติกรรม
แรดชวาเป็นสัตว์สันโดษปกติจะอยู่เพียงตัวเดียวลำพังยกเว้นจับคู่ผสมพันธุ์และเลี้ยงดูลูกอ่อน บางครั้งจะมีการรวมฝูงเล็ก ๆ ที่โป่งหรือปลักโคลน การลงแช่ปลักเป็นพฤติกรรมที่พบได้ในแรดทุกชนิด เพื่อช่วยในการควบคุมอุณหภูมิร่างกายและช่วยป้องกันผิวหนังจากปรสิตภายนอกและแมลงอื่น ๆ โดยปกติแรดชวาจะไม่ขุดปลักเองแต่จะใช้ปลักของสัตว์อื่นหรือปลักที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและให้นอของมันขุดเพื่อขยายปลักเท่านั้น ดินโป่งเป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญของแรดชวาที่ขาดไม่ได้ แรดชวาเพศผู้จะมีอาณาเขตขนาดใหญ่ประมาณ 12–20 กม.² ขณะเพศเมียมีอาณาเขตเพียง 3–14 กม.² ดังนั้นอาณาเขตของเพศผู้จึงมักเหลื่อมทับกับแรดชวาตัวอื่นมากกว่าในเพศเมีย การต่อสู้เพื่อชิงอาณาเขตนั้นยังไม่เป็นที่ทราบ แรดชวาเพศผู้จะทำเครื่องหมายบอกอาณาเขตด้วยกองมูลและละอองเยี่ยว การขูดพื้นดินด้วยเท้าและการบิดงอไม้หนุ่มดูเหมือนใช้ในการสื่อสาร แรดชวาไม่เปล่งเสียงร้องมากเท่ากับกระซู่

อาหาร
แรดชวาเป็นสัตว์กินพืชและกินได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะ หน่อ กิ่ง ใบ และผลไม้ที่ตกลงบนพื้นดิน พืชหลายชนิดเติบโตในบริเวณพื้นที่โล่ง ป่าโปร่ง ป่าไม้พุ่ม แรดจะรื้อไม้หนุ่มลงมาเพื่อหาอาหารและคว้าจับด้วยริมฝีปากบน มันไม่ใช่นักกินที่ปรับตัวเก่งเหมือนแรดชนิดอื่น แรดชวาเป็นสัตว์เล็มกินและอาจเป็นทั้งสัตว์เล็มกินและสัตว์เล็มหญ้า แรดกินอาหารประมาณ 50 กก.ต่อวัน แรดชวาเหมือนกับกระซู่ มันจำเป็นต้องกินเกลือเป็นอาหาร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นดินโป่ง แต่ไม่ใช่แรดในอูจุงกูลน แรดชวาที่นั่นดื่มน้ำทะเลที่มีสารอาหารที่มันต้องการเหมือนกับดินโป่งแทน

การสืบพันธุ์
พฤติกรรมการสืบพันธุ์ของแรดชวายากที่จะทำการศึกษาจากการสังเกตโดยตรงและไม่มีแรดชวาในสวนสัตว์ แรดเพศเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ราว 3–4 ปีในขณะที่เพศผู้ที่ประมาณ 6 ปี ตั้งท้องประมาณ 16–19 เดือน ให้กำเนิดลูกห่างกัน 4–5 ปี ลูกแรดจะอยู่กับแม่จนถึงอายุ 2 ปี พฤติกรรมการจับคู่คาดว่าคล้ายกับแรดชนิดอื่น


ที่มา : https://th.wikipedia.org