กวางผา


ชื่อภาษาไทย : กวางผา

ชื่อภาษาอังกฤษ : Gorals

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Naemorhedus griseus


กวางผาเป็นสัตว์ตระกูลแพะเช่นเดียวกับเลียงผา รูปร่างทั่วไปคล้ายเลียงผา แต่กวางผามีขนาดเล็กกว่าราวครึ่งหนึ่ง มีคอเล็กกว่า หางยาวกว่า และขาสั้นกว่า ต่อมหัวตาที่เป็นช่องเปิดระหว่างจมูกและตาของกวางผาเล็กมาก กระดูกจมูกของกวางผาเป็นคนละชิ้นกับกระดูกหน้า ซึ่งต่างจากเลียงผา กวางผาในเมืองไทยมีความยาวลำตัว 80-120 เซนติเมตร หางยาว 7-20 เซนติเมตร หูยาว 10-14 เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ 50-70 เซนติเมตร หนักราว 22-32 กิโลกรัม

การค้นพบและศัพทมูลวิทยา
กวางผาถูกค้นพบและศึกษาครั้งแรกในทางสัตววิทยา เมื่อปี ค.ศ.1825 ในแถบเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล มีลักษณะคล้ายแอนทีโลปที่พบในทวีปแอฟริกา จึงได้รับการจำแนกและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Antilope goral ต่อมาพบว่ามีลักษณะและนิสัยแตกต่างกันเด่นชัด จึงจำแนกออกเป็นสกุลใหม่ในปี ค.ศ. 1827 โดย ชาลส์ แฮมิลตัน สมิท นักธรรมชาติวิทยาและทหารชาวอังกฤษ คือ Naemorhedus

ลักษณะและพฤติกรรม
กวางผามีรูปร่างคล้ายแพะหรือเลียงผา (Capricornis spp.) ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งครั้งหนึ่งเลียงผาเองก็เคยใช้ชื่อสกุลเดียวกับกวางผาด้วย มีเขาสั้น ๆ ทั้งตัวผู้และตัวเมีย เป็นกรวยปลายเรียวแหลมคล้ายกันทั้ง 2 ข้าง ไม่มีการแตกกิ่งเขา เปลือกนอกเป็นปลอกเขาแข็งสวมทับบนแกนเขา ซึ่งเป็นแกนกระดูกที่งอกติดกับกะโหลกศีรษะชิ้นหน้าผาก ตัวเขาเจริญขึ้นตามอายุ และมีชุดเดียวตลอดชีวิต ไม่มีการผลัดเขาเหมือนกวาง  กวางผาไม่มีเคราใต้คางเหมือนแพะรวมทั้งมีขนาดเล็กกว่าเลียงผาเกือบเท่าตัว ขนมีสีอ่อนไม่เข้มเหมือนเลียงผา ขนชั้นนอกเป็นเส้นยาวหยาบ มีขนชั้นในเป็นเส้นละเอียดนุ่ม ซึ่งไม่พบในเลียงผา ระหว่างโคนเขาทั้ง 2 ข้าง ไปถึงหลังใบหูมีกระจุกขนเป็นยอดแหลมสีน้ำตาลเข้มชัดเจน ถัดต่อมาบริเวณหลังและสะโพกมีแผงขนยาวคล้ายอานม้าบาง ๆ สีเทา กลางหลังมีแถบขนสีดำพาดยาวตามแนวสันหลังไปจดโคนหาง หางสั้นเป็นพวงสีเข้มดำ ขนใต้คางและแผ่นอกสีน้ำตาลอ่อน เห็นเป็นแถบลายจางๆ บริเวณแผ่นอก สีขนช่วงโคนขาเข้มกว่าช่วงปลายขาลงไปถึงกีบเท้า เขาสั้นสีดำเป็นรูปกรวยแหลม ปลายเขาเรียวแหลมโค้งไปข้างหลังเล็กน้อย โคนเขาใหญ่มีรอยหยักเป็นวงๆ รอบเขาชัดเจน โดยทั่วไปแล้วสีขนของกวางผาตัวเมียจะอ่อนกว่าตัวผู้ เขาสั้นเล็กและมีรอยหยักรอบโคนเขาไม่ลึกชัดเจนอย่างเขาของตัวผู้  ทั้งหมดเป็นสัตว์ที่อาศัยและหากินบนที่ราบสูงที่เป็นภูเขาหรือหน้าผาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000–4,000 เมตร พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยจรดจนถึงเอเชียตะวันออก มีประชากรบางส่วนลงมาในเอเชียอาคเนย์ด้วย เป็นสัตว์ที่มีกีบเท้าที่แข็งแรงรับน้ำหนักได้ จึงเหมาะกับการกระโดดไปมาและไต่ไปตามหน้าผา เป็นสัตว์ที่มีการระแวดระวังภัยสูง ใช้ประสาทการมองเห็นมากกว่าการดมกลิ่น อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้ และว่ายน้ำได้เก่งอีกด้วยซ้ำ เคยมีรายงานว่าสามารถว่ายน้ำข้ามไปมาระหว่างเกาะต่างๆ ได้

การจำแนก
ปัจจุบันได้มีการตรวจสอบพิจารณารูปร่างลักษณะและเขตการกระจายพันธุ์ พบว่ากวางผาในบางแหล่งมีความแตกต่างกันเด่นชัด จำแนกได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่
กวางผาแดง (N. baileyi) พบตั้งแต่ธิเบตถึงภาคเหนือของพม่า
กวางผาหางยาว, กวางผาจีน (N. griseus) พบตั้งแต่ไซบีเรียตอนใต้, อนุทวีปอินเดียไปจนถึงเอเชียตะวันออก
กวางผาเทา, กวางผาหิมาลัย (N. goral) พบตั้งแต่ไซบีเรียทางตอนใต้เรื่อยมาจนถึงภาคเหนือของพม่า ถือเป็นต้นแบบของกวางผาทั้งหมด
กวางผาจีน, กวางผาจีนถิ่นใต้ (N. griseus) พบในแถบเอเชียเหนือลงมาถึงเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นชนิดที่พบในไทยด้วย


ที่มา : https://th.wikipedia.org