กูปรี


ชื่อภาษาไทย : กูปรี , โคไพร

ชื่อสามัญ : Kouprey   
                  
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bos sauveli


กูปรีเป็นสัตว์จำพวกกระทิงและวัวป่า  เป็นสัตว์กีบคู่ ตัวโต โคนขาใหญ่ ปลายหางเป็นพู่ขน เป็นสัตว์จำพวกวัว ความยาวหัว-ลำตัว 210-223 เซนติเมตร หนัก 681 ถึง 910 กิโลกรัม

ลักษณะทั่วไป
- ตัวผู้ มีขนสีดำ ขนาดความสูง 1.71-1.90 เมตร ขนาดลำตัว 2.10-2.22 เมตร น้ำหนักตัวประมาณ700-900 กิโลกรัม เขาตัวผู้จะโค้งเป็นวงกว้าง แล้วตีวงโค้งไปข้างหน้า ปลายเขาแตกออกเป็นพู่คล้ายเส้นไม้กวาดแข็ง ขาทั้ง 4 มีถุงเท้าสีขาวเช่นเดียวกับกระทิง (B. gaurus) ในตัวผู้ที่มีอายุมาก จะมีเหนียงใต้คอยาวห้อยลงมาจนเกือบจะถึงดิน เชื่อว่าใช้ในการระบายความร้อน 
- ตัวเมีย มีขนสีเทา มีเขาตีวงแคบแล้วม้วนขึ้นด้านบน ไม่มีพู่ที่ปลายเขา มีเขากลวงแบบ Horns ขนาดเท่ากัน โคนเขาใหญ่ ปลายเขาแหลม ไม่มีการแตกกิ่ง ยาวประมาณ 1 เมตร

สถานภาพในปัจจุบัน
ปัจจุบันไม่มีการรายงานการพบมานานแล้ว จนครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ ณ ปัจจุบันเชื่อว่าอาจจะยังพอมีหลงเหลืออยู่ในชายแดนไทยกับกัมพูชาแถบจังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงบริเวณชายแดนระหว่างลาวตอนใต้และเวียดนามด้วย เพราะมักจะมีข่าวว่าพบสัตว์ลักษณะคล้ายกูปรีบ่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่น่าเชื่อถือพอ นอกจากคำเล่าลือเท่านั้น ครั้งหนึ่ง เคยเชื่อกันว่า กูปรีอาจจะไม่ใช่วัวสายพันธุ์แท้ที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ แต่เป็นเพียงแค่ลูกผสมของวัวบ้าน (B. taurus) กับวัวแดง (B. javanicus) ซึ่งเป็นวัวป่าอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่จากการตรวจสอบด้วยดีเอ็นเอของนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสและนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยบ่งชี้ว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

พฤติกรรม
กูปรีหากินตอนกลางคืน คาดว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์ เมื่อถึงรุ่งเช้าก็จะกลับเข้าป่าทึบไป นอนพักผ่อนตอนบ่ายโดยจะล้อมกันเป็นวงเล็ก ๆ และแน่นหนา ตกเย็นจึงออกมาที่ทุ่งหญ้าหากินอีกครั้ง หากเป็นในฤดูฝนกูปรีอาจเข้าป่าทึบน้อยลงเนื่องจากเลี่ยงแมลงรบกวน อาศัยกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งประกอบด้วยตัวเมียและเด็ก ส่วนตัวผู้จะแยกออกไปรวมจับกลุ่มเป็นฝูงชายล้วนต่างหาก ในฤดูแล้งจึงมาร่วมฝูงกับตัวเมีย ฝูงหนึ่งอาจมากถึง 20 ตัว กูปรีมีนิสัยตื่นตัวไม่อยู่นิ่ง ชอบขุดดินและแทงตอไม้ ซึ่งเป็นเหตุที่ปลายเขาแตกเป็นพู่ เปรียบเทียบกับวัวแดงแล้ว กูปรีตื่นตัวมากกว่าและมีท่วงท่าการวิ่งสง่างามกว่า บางครั้งกูปรีก็หากินร่วมกับวัวแดงและควายป่า ชอบลงโป่งและตาน้ำ เดินหากินคืนหนึ่งอาจไกลถึง 15 กิโลเมตร สมาชิกในฝูงมีการแยกออกและกลับมารวมกันอยู่เสมอ
อาหาร: ไผ่ (Arundinella spp) หญ้าข้าวเปลือก (Arundinella setosa) และหญ้าในสกุลหญ้าโรด 


ที่มา : https://th.wikipedia.org
           http://www.verdantplanet.org