ชื่อภาษาไทย : แมวลายหินอ่อน
ชื่อภาษาอังกฤษ
: Marbled cat
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pardofelis marmorata
แมวลายหินอ่อนเป็นแมวขนาดเล็ก
ขนาดใกล้เคียงกับแมวบ้านทั่วไป มีลวดลายและสีสันคล้ายกับเสือลายเมฆ
ในภาษาจีนคำเรียกแมวลายหินอ่อนก็มีความหมายว่า เสือลายเมฆเล็ก มีแต้มใหญ่ ๆ
ขอบสีดำแบบเดียวกับเสือลายเมฆ แต่แต้มแต่ละแต้มอาจมีขอบไม่ครบวงหรือซ้อนเหลื่อมกัน
มีสีสันหลายแบบ ตั้งแต่เหลืองซีดจนถึงน้ำตาลอมเทาหรือน้ำตาลอมแดง มีเส้นสีดำแคบ ๆ
พาดผ่านกระหม่อม คอ และหลัง ขนนุ่มแน่นและมีขนชั้นในที่พัฒนาดี
ส่วนล่างของลำตัวมีสีเทาอ่อนหรือขาวและมีจุดสีดำ
จุดสีดำใต้ลำตัวนี้มีมากกว่าและเล็กกว่าของเสือลายเมฆ หัวสั้นกลมกว่าแมวชนิดอื่น ๆ
มีแถบสีดำข้างละ 3 แถบ หน้าผากกว้าง รูม่านตากว้าง
สีน้ำตาล หูกลมสั้นสีดำมีจุดสีขาวที่หลังหู ขาค่อนข้างสั้นและมีจุดดำอยู่มาก
ฝ่าตีนกว้าง หางฟู ยาวประมาณ 48-55 ซม.
ซึ่งยาวเท่ากับลำตัวรวมกับหัวหรืออาจจะยาวกว่าเสียอีก มีจุดสีดำตลอดความยาวหาง
ปลายหางสีดำ
ต้นกำเนิด
แมวลายหินอ่อนมีวิวัฒนาการมาอย่างไรยังไม่เป็นที่แน่ชัด
นักสัตววิทยาหลายคนเชื่อว่าแมวลายหินอ่อนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแมวขนาดใหญ่
โดยเฉพาะกับเสือลายเมฆ แม้ว่าแมวลายหินอ่อนเบากว่าเสือลายเมฆถึง 3 เท่าก็ตาม
เขี้ยวบนของแมวลายหินอ่อนมีขนาดใหญ่เหมือนกับเสือลายเมฆ
แต่มีกระโหลกสั้นและกลมกว่า นอกจากนี้ยังมีลักษณะทางโครโมโซมเหมือนกับพวกลิงซ์
เสือ และเสือดาวหิมะอีกด้วย เมื่อราวสิบล้านปีก่อน
แมวลายหินอ่อนอาจมีรูปร่างคล้ายกับบรรพบุรุษของเสือ
แต่การแข่งขันกับเสือชนิดอื่นทำให้ลดขนาดลงในเวลาต่อมา
อุปนิสัย
ด้วยความที่เป็นสัตว์หายาก
เราจึงรู้จักแมวลายหินอ่อนน้อยมาก ทั้งทางด้านอุปนิสัย อาหาร และชีววิทยา
แต่เป็นที่เชื่อว่า แมวลายหินอ่อนหากินกลางคืน อาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก
ปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่ว จับกระรอก ค้างคาวผลไม้ หนู นก สัตว์เลื้อยคลาน กบ
และแมลง ซึ่งสนับสนุนโดยโครงสร้างของตีน
ซึ่งไม่มีลักษณะของการปรับตัวเพื่อหากินบนพื้นดินเลย ขาที่สั้น และหางที่ยาว
มีอุ้งตีนที่อ่อนนุ่ม มีปลอกเล็บคู่ ในขณะที่นั่ง มันจะหดหัวเล็กน้อยและงอหลัง
จากรายงานการพบเห็นแมวลายหินอ่อนที่มีอยู่เพียงไม่กี่ครั้งในบูกิตซูฮาร์โตในกาลิมันตันพบว่ามันออกหากินในช่วงเวลา
20-22 น.
จากการผ่านกระเพาะแมวลายหินอ่อนตัวหนึ่งที่ถูกยิงในซาบาห์พบเศษของหนูขนาดเล็ก
และมีผู้เคยพบเห็นแมวลายหินอ่อนย่องจับนกบนต้นไม้
นอกจากนี้ยังพบว่ากระรอกก็ถูกจับเป็นอาหารเหมือนกัน
แมวลายหินอ่อนถูกจัดให้เป็นตัวแทนของมาร์เกย์ที่อยู่ในอเมริกากลางและใต้
สถานภาพ
เชื่อว่า
แมวลายหินอ่อนเป็นแมวที่มีประชากรเป็นจำนวนน้อยโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
แม้แต่ในยุคอดีต ก็ไม่เคยมีช่วงใดที่มีประชากรมากเลย นอกจากนี้
ความที่เป็นสัตว์หากินเฉพาะตอนกลางคืนและอาศัยอยู่บนเรือนยอด
ยิ่งทำให้พบเห็นได้ยาก จึงมีการศึกษาชีวิตของแมวลายหินอ่อนน้อยมาก
การที่อาศัยอยู่ในป่าทึบทำให้มันมีความเปราะบางจากการตัดไม้ทำลายป่าดังที่เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จึงเชื่อว่าปัจจุบันแมวลายหินอ่อนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์
ไซเตสได้บรรจุชื่อของแมวป่าหัวแบนไว้ในบัญชีหมายเลข 1
ไอยูซีเอ็น:
เสี่ยงสูญพันธุ์ (2007)
ที่มา : http://www.verdantplanet.org