ชื่อภาษาไทย
: เลียงผา,เยียงผา,โครำ
ชื่อภาษาอังกฤษ
: Serows
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Capricornis
สัตว์กีบรูปร่างคล้ายแพะ
ลำตัวสั้น ขายาว ขนดำยาว ขนชั้นนอกชี้ฟู
ขนบริเวณตั้งแต่โคนเขาจนถึงหัวไหล่ยาวและฟู อาจมีสีแตกต่างกันไปตั้งแต่ขาวถึงดำ
หัวโต หูใหญ่ตั้ง มีเขาเป็นรูปกรวยเรียว โค้งไปทางข้างหลังเล็กน้อย
ตัวผู้เขายาวกว่าตัวเมียมาก ตัวที่เขายาวที่สุดเคยวัดได้ถึง 28 เซนติเมตร โคนเขาเป็นลอนย่น
กะโหลกด้านหน้าแบน มีต่อมน้ำตาอยู่ใต้ตา
ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างสารกลิ่นฉุนเพื่อใช้ในการทำเครื่องหมายประกาศอาณาเขต
หางสั้นและเป็นพู่ ความยาวลำตัว 1.5 เมตร หางยาว 15 เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ 1 เมตร หนักประมาณ 85-140 กิโลกรัม
รอยตีนของเลียงผามีขนาดใกล้เคียงคล้ายรอยตีนเก้ง
แต่กีบเลียงผาค่อนข้างขนานกัน ไม่งุ้มเข้าหากันอย่างสัตว์กีบชนิดอื่น
และปลายกีบของเลียงผาค่อนข้างทู่กว่าของเก้ง
เลียงผาพบตั้งแต่แคชเมียร์ในประเทศอินเดีย
เชิงเขาหิมาลัย แพร่ไปถึงอัสสัม ลงมาถึงจีนและพม่า ไทย มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา
ในประเทศไทยพบในป่าหลายประเภททั่วประเทศยกเว้นที่ราบ
พวกที่อยู่ในบังกลาเทศและพื้นที่ข้างเคียงอยู่ในชนิดย่อย Capricornis
sumatraensis rubidus ส่วนพวกที่อยู่ในคาบสมุทรมลายูและเกาะสุมาตราคือชนิดย่อย
Capricornis
sumatratraensis sumatraensis อาศัยอยู่ตามภูเขาที่เปิดโล่ง
เลียงผามักอาศัยอยู่ตัวเดียวหรือบางครั้งเป็นฝูงเล็ก
ปีนป่ายและกระโดดไปตามหน้าผาชันได้อย่างคล่องแคล่ว และปีนต้นไม้ก็ได้
นอกจากนี้ยังว่ายน้ำได้เก่ง จึงพบได้ตามเกาะด้วย ออกหากินเฉพาะตอนเย็นและตอนเช้า
เลียงผามีนิสัยหวงถิ่น อาณาเขตของเลียงผากว้างเพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตร
มักหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งพักผ่อน กินหญ้า และบางครั้งก็กินยอดอ่อนและใบไม้
มีจุดถ่ายมูลประจำ ตอนกลางวันเลียงผาจะหลบอยู่ในพุ่มหรือในถ้ำตื้นใต้ง่อนหิน
เลียงผามีจมูก
หู และตาไวมาก ศัตรูในธรรมชาติคือหมาใน เมื่อถูกต้อนจนมุม
จะต่อสู้ด้วยเขาอย่างเอาเป็นเอาตาย เลียงผาผสมพันธุ์ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน
แม่เลียงผาตั้งท้องนาน 7 เดือน ออกลูกทีละตัว
ลูกเลียงผาอยู่กับแม่เป็นเวลา 1 ปี
ตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 30 เดือน
ตัวผู้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 30-36 เดือน มีอายุขัย 10 ปี
การที่เลียงผาชอบอยู่ตามหน้าผาชันเป็นธรรมชาติที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงสัตว์นักล่าได้ดี
แต่โชคร้ายที่เป็นเป้าโดดเด่นของปืนนายพราน
และหน้าผาหินปูนซึ่งเป็นที่อยู่หลักก็ถูกทำลายไปมาก ปัจจุบันเป็นสัตว์หายาก
ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้อยู่ในระดับอันตราย เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส
ที่มา : http://www.verdantplanet.org